บอกต่อ!.. ถั่ว 10 ชนิด กินแล้วดีเกินต้าน
ถั่ว ถือเป็นซุปเปอร์ฟู้ดที่คนรักสุขภาพห้ามพลาด ทั้งอุดมไปด้วยโปรตีน ไฟเบอร์ ไขมันชนิดที่ดี วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมาก ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น มีลักษณะเป็นเมล็ดพืชที่ถูกหุ้มด้วยเปลือกแข็ง นิยมกินเล่นเป็นอาหารว่าง หรือนำไปใช้เสริมในการประกอบอาหาร เช่นปรุงใส่ในอาหาร ขนมหรือนมถั่วต่างๆ วันนี้เราคัดมาให้แล้ว 10 ชนิดที่กินแล้วมีประโยชน์มากที่สุด ตามไปดูกันเลย
ประโยชน์ที่ได้รับจากถั่ว
ถั่วมีที่โปรตีนสูง
โปรตีนจากพืชที่ดีที่สุด ก็ต้องมาจากถั่ว ถั่วมีกรดอะมิโน แอล-อาร์จินิน (L-Arginine) ที่ช่วยในการสร้างโปรตีนและช่วยคลายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนดีและลดความดันโลหิตลง ยังช่วยเสริมสร้างกระดูก กล้ามเนื้อ ผิวหนัง และช่วยให้รู้สึกอิ่มท้องได้นานอีกด้วย
ถั่ว 1 ออนซ์ให้โปรตีนประมาณ 2-7 กรัม
ถั่วมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ไฟเบอร์สูง
ถั่วหลากหลายชนิดมีคาร์โบไฮเดรตที่ต่ำ และส่วนใหญ่แล้วจะเป็นไฟเบอร์ ไฟเบอร์หรือใยอาหาร หรือที่เรียกกว่า “เซลลูโลส” จะไม่นับแคลอรี่หรือพลังงาน เพราะจะไม่ถูกย่อยในระบบทางเดินอาหาร แต่จะถูกขับถ่ายออกมาในรูปแบบของกากอาหาร ในระหว่างทางไฟเบอร์จะเป็นตัวคอยกวาดคราบอุดตัน กรดยูเรีย แอมโมเนียและสารพิษอื่นๆในลำไส้ออกไปทางระบบขับถ่าย สามารถลดความเสี่ยงการเกิดอาการท้องผูก ท้องเสีย และโรคมะเร็งลำไส้ได้
ถั่ว 1 ออนซ์ให้คาร์โบไฮเดรตประมาณ 3-9 กรัม แบ่งเป็นไฟเบอร์ประมาณ 1-5 กรัม
ไขมันจากถั่ว เป็นไขมันชนิดที่ดีต่อสุขภาพ
เมื่อพูดถึงไขมัน ก็นึกถึงความอ้วนที่ตามมา แต่ไม่ใช่กับถั่ว เพราะไขมันจากถั่วเป็นไขมันไม่อิ่มตัวทั้งเชิงเดี่ยว (MUFA) และเชิงซ้อน (PUFA) ซึ่งจะช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) ออกจากร่างกาย และไม่ตกค้างหรือสะสมที่ผิวหนังหลอดเลือด จะช่วยทำให้ลดความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดอุดตัน โรคหัวใจ ความดันโลหิตได้
ถั่ว 1 ออนซ์ให้ไขมันประมาณ 13-22 กรัม แบ่งเป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัวประมาณ 9-18 กรัม หรือ 70-87% ของไขมันทั้งหมด
ถั่วอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมากมาย
• มีวิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ที่สามารถช่วยหยุดยั้งการออกซิเดชั่นที่ก่อให้เกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้ ช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) ในเลือด และมีส่วนช่วยในการนอนหลับ
• เป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยสารประกอบฟีนอลและโพลีฟีนอล ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านโมเลกุลที่ไม่เสถียร หรือเรียกว่า “อนุมูลอิสระ” โพลีฟีนอลในถั่วช่วยรักษาลำไส้ของเราให้แข็งแรงขึ้น โดยแบคทีเรียชนิดที่ดีที่อาศัยในลำไส้จะเติบโตและเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งบางชนิดจะผลิตกรดไขมันสายสั้นซึ่งเป็นประโยชน์ต่อลำไส้และระบบภายใน
• มีวิตามินเค แคลเซียม แมกนีเซียม แมงกานีส ทองแดง และซิงค์ ที่ทำงานร่วมกัน จะช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงได้
• มีไฟโตสเตอรอล จะช่วยรักษาสุขภาพของเยื่อบุหลอดเลือด ปรับสมดุลของคอเลสเตอรอล ลดการสะสมของคราบไขมัน คราบจุลินทรีย์ตามผนังหลอดเลือด ลดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือด
แคลอรี่และโภชนาการ
โปรตีน 1 กรัม เท่ากับ 4 แคลอรี่
คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม เท่ากับ 4 แคลอรี่
ไขมัน 1 กรัม เท่ากับ 9 แคลอรี่
1 ออนซ์ = 28.35 กรัม = 1 ฝ่ามือ
ความแตกต่างของถั่วแบบดิบและแบบคั่ว
ถั่วแบบดิบ ข้อดี
- รักษาสารอาหารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติได้มากขึ้น เช่นสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินอี
- แคลอรี่ ไขมัน และโซเดียมน้อยกว่า
- มีอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายน้อยกว่า
ถั่วแบบดิบ ข้อเสีย
- รสชาติ และกลิ่นจะไม่เข้มข้นเท่าถั่วแบบคั่ว
- อาจมีสารประกอบตามธรรมชาติ ที่เป็นภัยต่อระบบลำไส้ ทำให้เกิดการปวดท้อง ท้องอืดได้
ถั่วแบบคั่ว ข้อดี
- อรรถรสในการกินดีกว่า ทั้งรสชาติ กลิ่น และสัมผัสกรุบกรอบ
- ช่วยลดความเสี่ยงของสารประกอบตามธรรมชาติบางชนิด และแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อระบบลำไส้ เช่น ซาลโมเนลลา และอีโคไล ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืด อาเจียน มีไข้ได้
ถั่วแบบคั่ว ข้อเสีย
- เมื่อกินในจำนวนที่มากอาจทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง เช่น สารอะคริลาไมด์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่เกิดขึ้นในอาหารประเภทคั่ว ทอด ปิ้ง อบ จะเกิดขึ้นจากกรดอะมิโนที่ชื่อ “แอสพาราจีน” ทำปฏิกิริยากับน้ำตาล จนเกิดสาร “แอมโมเนีย” สารแอมโมเนียจะทำปฏิกิริยากับกรดอะคริลิกต่ออีก จนเกิดเป็น “สารอะคริลาไมด์”
- ยิ่งเพิ่มปริมาณไขมัน เนื่องจากเมื่อคั่วด้วยความร้อนและแห้ง จะทำให้สูญเสียน้ำ
สรุปแล้วแบบไหนดีกว่ากัน ทั้งสองฝั่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่เราขอแนะนำแบบดิบตามธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่งเพิ่มจะดีกว่า
ชนิดของถั่ว
อัลมอนด์ (Almonds)
อัลมอนด์เป็นหนึ่งในต้นไม้ในตระกูลกุหลาบ มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ประเทศอิหร่าน และได้แพร่หลายไปยังหลายๆภูมิภาค รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นแหล่งที่ให้ผลผลิตเกือบ 80% ของทั้งโลก อุดมไปด้วยโปรตีน ไฟเบอร์ และไขมันชนิดที่ดีต่อร่างกายสูง สามารถกินได้ทั้งแบบดิบ ลวก หรือคั่ว ในแถบยุโรปจะนิยมนำไปใช้ในการทำขนม หรือของหวาน และยังเป็นวัตถุดิบที่ถูกนำไปใช้สำหรับอาหารมังสวิรัติบ่อยๆอีกด้วย สามารถพบได้ในรูปแบบเป็นเม็ดที่มีผิวสีน้ำตาล แบบหั่นสไลด์ หรือแบบผง
อัลมอนด์แบ่งออกได้เป็น 2 สายพันธุ์
1. สวีทอัลมอนด์ (P. dulcis, variety dulcis) เป็นอัลมอนด์หวานที่เราคุ้นเคยกัน สามารถกินได้ ใช้สำหรับปรุงอาหาร หรือกินดิบๆได้ มีน้ำมันอยู่ 35-55%
2. บิทเทอร์อัลมอนด์ (P. dulcis, variety amara) เป็นอัลมอนด์ขม ใช้สำหรับการสกัดเพื่อแต่งกลิ่นในอาหารหรือเหล้าหวาน น้ำมันของอัลมอนด์ชนิดนี้มีเบนซาลดีไฮด์และกรดพรัสซิก(ไฮโดรเจนไซยาไนด์) ซึ่งจะต้องกำจัดกรดพรัสซิกออกก่อน เพราะกรดนี้จะก่อให้เกิดอาการไอ มีเสมหะ หลอดลมอักเสบ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนได้
ข้อควรรู้
- ถั่วอัลมอนด์ 1 ออนซ์ หรือ 24 เม็ด ให้พลังงาน 164 แคลอรี่
- มีสัดส่วนปริมาณของไขมันดี หรือไขมันไม่อิ่มตัวสูงถึง 87% ของไขมันทั้งหมด นับว่าสูงที่สุด ซึ่งเป็นไขมันที่ไม่ตกค้างในหลอดเลือด
- รักษาโรคเบาหวานได้ เนื่องจาก อัลมอนด์ 1 ออนซ์ให้แมกนีเซียม 76.5 มิลลิกรัม หรือระหว่าง 18-24% ของความต้องการรายวันของผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีภาวะขาดสารอาหาร แมกนีเซียมต่ำ ในงานวิจัยปี 2554 พบว่า ผู้ป่วยจำนวน 20 คน หลังจากกินอัลมอนด์ 60 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 3 เดือน ส่งผลดีต่อระดับน้ำตาลและไขมันเลือด
- อัลมอนด์จะดูดซับกลิ่นได้ง่าย ฉะนั้นพยายามอย่าวางไว้ใกล้อาหารที่ส่งกลิ่น เช่น กระเทียมหรือหัวหอม
การแช่อัลมอนด์ในน้ำ 8-12 ชั่วโมง ก่อนกินส่งผลอะไรบ้าง?
- ช่วยลดความขมลง เนื่องจากการแช่น้ำจะช่วยลดความขมจากเปลือกของอัลมอนด์ ซึ่งมีสารแทนนินอยู่
- สัมผัสนิ่มลง ทำให้ไม่เกิดอาการคันคอ หรือระคายเคือง ขณะที่กลืน
- ลดอาการท้องอืด ท้องผูกได้ เนื่องจากผิวเปลือกสีน้ำตาลของอัลมอนด์ส่งผลเสียต่อร่างกาย เพราะมีสารแทนนิน ซึ่งมีสถานะเป็นกรดอ่อนรสฝาดขม พบได้ในพืช มีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในกระเพาะอาหาร ถ้าได้รับมากจะทำให้รู้สึกท้องอืด ท้องผูกได้
- ร่างกายดูดซึมไขมันได้ง่ายขึ้น มีงานวิจัยบอกไว้ว่า การเคี้ยวหรือหั่นตัดให้เป็นชิ้นที่เล็กลง จะช่วยให้เอนไซม์ดูดซึมสารอาหาร และย่อยอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะไขมัน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยกับแร่ธาตุต่างๆที่ลดลงจากการนำไปแช่น้ำด้วยเช่นกัน
ถั่วบราซิล (Brazil Nuts)
ถั่วบราซิล หรือชื่ออื่นๆเช่น ถั่วอมาริลโล ถั่วลิสงเถา ถั่วปิ่นโต ถั่วเปรู มีถิ่นกำเนิดในป่าฝนอเมซอนในประเทศบราซิล โบลิเวีย และเปรู เติบโตในแถบอเมริกาใต้ มีชื่อภาษาโปรตุเกสว่า ‘Semilla de Brazil’ ถั่วบราซิลมีเปลือกแข็งที่หนารูปทรงเหมือนมะพร้าว ในหนึ่งลูกจะมี 3-24 เม็ดถั่วในรูปทรงเปลือกที่เป็นสามเหลี่ยมคล้ายกับส้ม อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามิน ซึ่งแร่ธาตุที่โดดเด่นของถั่วบราซิลก็คือ ซีลีเนียม โดย 1 เม็ดถั่วมีมากถึง 160% ของความต้องการในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยสร้างกลูตาไธโอนเพอรอกซิเดส ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระหลักของร่างกายมนุษย์ในทุกๆเซลล์ และยังให้แมกนีเซียมสูงถึง 26% ต่อ 1 ออนซ์ ช่วยในการดึงไขมันเปลี่ยนเป็นพลังงาน และเสริมสร้างมวลกระดูกให้แข็งแรงอีกด้วย
ข้อควรรู้
- ถั่วบราซิล 1 ออนซ์ หรือ 6 เม็ด ให้พลังงาน 187 แคลอรี่
- มีซีลีเนียมสูงที่สุด โดย 1 เม็ดจะให้ซีลีเนียมสูงถึง 160% ของความต้องการในแต่ละวัน ซีลีเนียมเป็นแร่ธาตุจำเป็นต่อร่างกาย มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน การขาดธาตุซีลีเนียมจะทำให้เกิด โรคคีชาน ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย จากการทำงานผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ
- มีแมกนีเซียมสูงที่สุด 1 ออนซ์ให้สูงถึง 26% ของความต้องการในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยในการเผาผลาญไขมัน และป้องกันโรคกระดูกพรุน
เม็ดมะม่วงหิมพานต์ (Cashew)
เชื่อได้เลยว่าเม็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นถั่วชนิดโปรดของใครหลายๆคน ด้วยรสชาติที่หวานมัน หนึบๆ เคี้ยวอร่อย มะม่วงหิมพานต์เป็นไม้ดอกยืนต้น ตระกูลเดียวกันกับถั่วพิสตาชิโอ (Pistachios) และมะม่วง มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ โดยเฉพาะบราซิล ต่อมาได้แพร่หลายไปในทวีปแอฟริกาและอินเดีย มีอัตราการส่งออกถึง 90% ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน เม็ดมะม่วงหิมพานต์มีลักษณะคล้าย รูปไต การกินเม็ดมะม่วงหิมพานต์จะต้องผ่านการคั่วก่อน เพราะที่เปลือกจะมีสาร 'Urushiol ' ซึ่งเป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อผิวหนังได้ แต่โชคดีที่วางขายในท้องตลาด ได้กำจัดสารพิษนี้ไปแล้ว หายห่วง นิยมกินเป็นของว่าง ใส่ในขนม โยเกิร์ต นม เค้ก ได้หมดเลย
ข้อควรรู้
- เม็ดมะม่วงหิมพานต์ 1 ออนซ์ หรือ 18 เม็ด ให้พลังงาน 163 แคลอรี่
- ถ้าเพิ่งเก็บจากต้นมาใหม่ๆ จะมี 'Urushiol' เป็นสารพิษที่อันตรายต่อผิวหนัง พบบนเปลือกเมล็ดสีเขียวเข้มของมะม่วงหิมพานต์ การสัมผัสโดยตรงอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนังได้ ก่อนจะกินจะต้องแกะเปลือกเมล็ดสีเขียวเข้มออกก่อน ซึ่งที่ขายในท้องตลาด ได้ผ่านกรรมวิธีกำจัดสารพิษนี้ออกไปแล้ว
- มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า ซีแซนทีน สูง ซึ่งจะช่วยเสริมสุขภาพของดวงตา ป้องกันรังสี UV ที่เป็นอันตราย
เฮเซลนัท (Hazelnuts)
เฮเซลนัท หรือฟิลเบิร์ต เป็นผลที่มาจากต้น Corylus มีถิ่นกำเนิดมาจากยุโรปและเอเชียตะวันตก ส่วนใหญ่จะปลูกในประเทศตุรกี อิตาลี สเปน และอเมริกา ซึ่งประเทศตุรกีเป็นผู้ส่งออกมากที่สุดในโลก โดยคิดเป็น 75% ของตลาดทั่วโลก มีวิตามินบี-9 สูง ซึ่งช่วยร่างกายผลิต DNA และ RNA เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคเลือดสมองและภาวะเลือดจาง อีกทั้งยังมีสารประกอบฟีนอลิก ซึ่งช่วยต้านสารอนุมูลอิสระได้มากขึ้นด้วย มีรสชาติหวาน สามารถกินดิบ คั่ว หรือบดเป็นแป้งได้
ข้อควรรู้
- ถั่วเฮเซลนัท 1 ออนซ์ หรือ 21 เม็ด ให้พลังงาน 176 แคลอรี่
- มีกรดโฟลิก หรือวิตามินบี-9 สูงที่สุด ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เพื่อผลิต DNA และ RNA ที่ร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ และช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ภาวะเลือดจาง และกระบวนการสร้างและย่อยสลายของกรดอะมิโนในการแบ่งเซลล์
- ควรจะกินเฮเซลนัททั้งเม็ดแบบดิบโดยไม่ผ่านการคั่ว หรือความร้อน เพราะเฮเซลนัทอุดมไปด้วยสารประกอบฟีนอลิก ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการต้านอนุมูลอิสระ การคั่วจะเป็นการทำลายประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากเฮเซลนัท
แมคคาเดเมีย (Macadamia)
แมคคาเดเมีย แค่ชื่อก็ดูแพงแล้ว ถั่วสุดหรูนี้มีถิ่นกำเนิดในประเทศออสเตรเลีย และได้แพร่หลายไปยังประเทศบราซิล คอสตาริกา ฮาวาย และนิวซีแลนด์ แต่ถูกขายเชิงพาณิชย์ครั้งแรกที่ฮาวาย แมคคาเดเมียใช้เวลาการปลูกประมาณ 7-10 ปี และจะเก็บเกี่ยวได้เพียง 5-6 ครั้งต่อปีด้วยมือเปล่า และยังมีเปลือกที่หนาทำให้ยากต่อการแยกแยะระหว่างถั่วที่ดิบหรือสุก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้แมคคาเดเมียมีราคาสูงที่สุด มีรสชาติเข้มข้น หอมมัน อร่อย เป็นถั่วที่นิยมอยู่คู่กับกับของหวาน ไอศกรีม ขนม เค้ก คุกกี้และพาย
ข้อควรรู้
- ถั่วแมคคาเดเมีย 1 ออนซ์ หรือ 10 เม็ด ให้พลังงาน 200 แคลอรี่ (มากที่สุด)
- มีราคาสูงที่สุด เพราะระยะเวลาการปลูกที่ยาวนาน กระบวนการเก็บเกี่ยวที่มีค่าใช้จ่ายสูง
- จากการกิน 1 ออนซ์ต่อวัน จะทำให้ระดับฮีโมโกลบิน A1c อยู่ในระดับที่ดีขึ้นได้ ส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในระยะยาว
- ไขมันส่วนใหญ่ของแมคคาเดเมียนั้นปราศจากคอเลสเตอรอล 100% และมีกรดปาล์มมิโทเลอิกซึ่งสามารถปรับปรุงการเผาผลาญและช่วยให้ร่างกายรักษาระดับอินซูลินที่ดีต่อสุขภาพ
ถั่วลิสง (Peanuts)
ถั่วลิสงมีหลายชื่อเรียก ไม่ว่าจะเป็น Ground Nuts, Earth Nuts, Goobers เป็นพืชตระกูลถั่ว มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ ในประเทศอเมริกาและยุโรปจะไม่นิยมกินถั่วลิสงแบบดิบๆหรือต้มแบบบ้านเรา ส่วนใหญ่จะกินแบบเป็นเนยถั่ว หรือคั่วก่อน ผลผลิตถั่วลิสงส่วนใหญ่ของโลกจะถูกนำไปทำเป็นน้ำมันถั่วลิสง “น้ำมันอาราชิส (Arachis oil)” เพราะว่าน้ำมันจากถั่วลิสงเป็นไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวและเชิงซ้อน ซึ่งเต็มไปด้วยกรดโอเลอิกและกรดไลโนเลอิก จำเป็นต่อร่างกาย เช่นเดียวกับน้ำมันมะกอกเลย และจุดเด่นคือเป็นถั่วที่มีโปรตีนสูงที่สุด ราคาถูก วางขายในตลาดอย่างแพร่หลาย บ้านเราจะนิยมกินถั่วแบบต้ม หรือคั่วเกลือ
ข้อควรรู้
- ถั่วลิสง 1 ออนซ์ หรือ 28 เม็ด ให้พลังงาน 161 แคลอรี่
- โปรตีนสูงที่สุด ให้โปรตีนสูงถึง 7.3 กรัมต่อ 1 ออนซ์
- ควรระวังถั่วลิสงในรูปแบบตำหรือบดไว้แล้วทิ้งไว้นานๆในขวดแก้ว เช่น ถั่วบดในร้านก๋วยเตี๋ยว จะทำให้เกิดความชื้น จากสารอะฟลาท็อกซิน(Aflatoxin) คือสารก่อมะเร็งนั่นเอง
- การนำถั่วลิสงไปต้มหรือคั่วทั้งเปลือก จะทำให้ร่างกายดูดซึมไขมันได้เพียง 82%
- เนยถั่วที่ทำจากถั่วลิสง ร่างกายจะสามารถดูดซึมไขมันได้มากถึง 93%
ถั่วพีแคน (Pecan)
ถั่วพีแคน ต้นไม้ประจำรัฐเท็กซัส เป็นพันธุ์ไม้ในตระกูลวอลนัท (Walnuts) มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเหนือ อเมริกาเป็นเจ้าใหญ่ที่ปลูกและส่งออกถั่วพีแคนมาก 80% ของตลาดทั่วโลก ฤดูเก็บเกี่ยวเป็นช่วงปลายเดือนกันยายน และมักถูกเลือกใช้ในเทศกาลมากมายช่วงปลายปี เป็นถั่วที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ อีกทั้งน้ำตาลน้อยที่สุด ถั่วพีแคนจึงเป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่นิยมสำหรับทำขนม เค้ก พายและอื่นๆ สามารถกินดิบเป็นของว่าง ผสมกับโยเกิร์ตเพิ่มความกรุบกรอบ หรือโรยบนไอศกรีมเพื่อตัดรสชาติก็เข้ากันไปหมด
ข้อควรรู้
- ถั่วพีแคน 1 ออนซ์ หรือ 19 เม็ด ให้พลังงาน 196 แคลอรี่
- เป็นถั่วที่มีน้ำตาลน้อยที่สุด มีเพียงแค่ 1.1 กรัมต่อ 1 ออนซ์เท่านั้นเอง
- พายพีแคน มักถูกเลือกใช้ในวันขอบคุณพระเจ้าและงานเทศกาลอื่นๆ เนื่องจากฤดูเก็บเกี่ยวถั่วพีแคนจะเป็นช่วงปลายเดือนกันยายน จึงเหมาะกับทุกเทศกาลในช่วงปลายปี
- พีแคนจากรัฐเท็กซัส มีรสชาติหวานที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในการปลูก และเป็นต้นไม้ประจำรัฐเท็กซัสอีกด้วย
ถั่วไพน์ (Pine Nuts)
ถั่วไพน์ ถั่วเม็ดสน ถั่วซีดาร์ และพิกโนลี (Pignoli) เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของต้นสน มีมากกว่า 20 สายพันธุ์ในโลก แต่เมล็ดที่เก็บเกี่ยวได้บ่อยที่สุดมาจากพันธุ์ไม้สน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ต้นสนเม็กซิกัน (Pinus cembroides), ต้นสนโคโลราโด (P. edulis), ต้นสนหินอิตาลี (P. pinea) และต้นสนจีน (P. koraiensis) ต้องใช้ระยะเวลานาน 15-25 ปีกว่าที่ต้นไม้จะเริ่มผลิตเมล็ด และจะเก็บเกี่ยวด้วยมือ ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มีราคาที่สูง ลักษณะของเมล็ดถั่วไพน์จะเป็นรูปหยดน้ำ มีสีงาช้าง ขนาดเล็กและยาวประมาณครึ่งนิ้ว มีสัมผัสที่นุ่ม รสชาติหวานมัน นิยมใช้สำหรับทำซอสเพสโต้ โรยบนสลัด ของหวาน ขนมอบ และคุกกี้
ข้อควรรู้
- ถั่วไพน์ 1 ออนซ์ หรือ 167 เม็ด ให้พลังงาน 191 แคลอรี่
- เป็นส่วนประกอบหลักของซอสเพสโต้
- การกินถั่วไพน์อาจทำให้อาหารอื่นๆมีรสชาติขมไปหมด อาการนี้เรียกว่า “Pine mouth syndrome” ตามองค์การอาหารและยา (FDA) ระบุไว้ว่า อาการจะเกิดขึ้น 12-48 ชั่วโมงหลังกินถั่วไพน์ และนักวิทยาศาสตร์ก็ยังหาสาเหตุไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่จะเกิดกับสายพันธุ์ต้นสนจีน (P. koraiensis)
- ถั่วไพน์สายพันธุ์จากจีน เม็ดจะสั้นและอ้วนกว่าสายพันธุ์อื่นๆ
พิสตาชิโอ (Pistachios)
ถั่วพิสตาชิโอ อยู่ในตระกูลเดียวกันกับมะม่วงหิมพานต์ (Cashew) มีถิ่นกำเนิดที่เอเชียตอนกลาง ประเทศอัฟกานิสถานและอิหร่าน มีลักษณะเป็นเมล็ดสีเขียว เปลือกแข็งด้านนอกจะถูกกะเทาะแง้มอยู่ส่วนหนึ่ง เวลากินจะต้องแกะเปลือกแข็งด้านนอกออกทั้งหมดก่อน ถั่วพิสตาชิโอมีวิตามินบี-6 สูงที่สุด อยู่ที่ 28% ต่อ 1 ออนซ์ ซึ่งช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและการสร้างฮีโมโกลบินที่เป็นโมเลกุลนำพาออกซิเจนในเซลล์เม็ดเลือดแดง และมีโพแทสเซียมมากกว่ากล้วยลูกใหญ่ถึงครึ่งหนึ่ง และยังมีลูทีนและซีแซนทีนสูง ซึ่งทั้งสองจะช่วยเสริมสุขภาพของดวงตา พิสตาชิโอเป็นถั่วชนิดที่แคลอรี่ต่ำกว่าถั่วชนิดอื่นๆเมื่อเทียบต่อกรัม นิยมกินเล่นเป็นอาหารว่าง ท็อปปิ้งบนของหวานหรือสลัด ทำเป็นซอส ปั่นรวมกับผลไม้อื่นๆเป็นสมูทตี้ก็ได้
ข้อควรรู้
- ถั่วพิสตาชิโอ 1 ออนซ์ หรือ 49 เม็ด ให้พลังงาน 159 แคลอรี่ (น้อยที่สุด)
- เป็นถั่วที่มีวิตามินบี-6 สูงที่สุด อยู่ที่ 28% ต่อ 1 ออนซ์ ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและการสร้างฮีโมโกลบิน
- เป็นถั่วที่แคลอรี่ต่ำที่สุด เหมาะกับการกินแทนขนมอื่นๆระหว่างมื้อ
- การใส่เกลือเพิ่มให้กับถั่วพิสตาชิโอ อาจจะทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมเกินขนาดในแต่ละวันได้ ส่งผลให้ไตทำงานหนัก เลือดข้น ความดันสูง หลอดเลือดแข็งตัวได้
- มีโพแทสเซียมสูงมากกว่ากล้วยลูกใหญ่ถึงครึ่งหนึ่ง
- มีลูทีนและซีแซนทีนสูง ซึ่งทั้งสองจะช่วยเสริมสุขภาพของดวงตา ป้องกันรังสี UV ที่เป็นอันตราย
วอลนัท (Walnuts)
วอลนัทเป็นพืชยืนต้นตระกูลถั่ว มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรปและเอเชียกลาง และได้แพร่หลายไปยังคอเคซัส จีน เปอร์เซีย และสุดท้ายไปยังยุโรป ผลของวอลนัทจะโตเต็มที่ประมาณ 3-4 ปีหลังเริ่มปลูก จะเก็บเกี่ยวโดยการเขย่าลำต้น ปอกเปลือก แล้วนำไปอบแห้งเพื่อป้องกันการเหม็นหืน เปลือกมีลักษณะทรงกลม ถ้าผลอ่อนจะมีสีเขียว ส่วนผลแก่เปลือกจะมีสีน้ำตาล ภายในจะมีเมล็ดทรงรีสองฝั่งประกบติดกันอยู่ ลักษณะของวอลนัทจะมีรอยหยักคล้ายกับสมอง อุดมไปด้วยไขมันโอเมก้า-3 และสารต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด สัมผัสของถั่ววอลนัทจะมันๆ เคี้ยวเพลิน ขมนิดๆ ถ้านำไปอบจะช่วยลงความขมลงได้ นิยมกินเป็นสแน็ค ใส่ในซีเรียลธัญพืชอื่นๆ ทำขนม หรือจะนำไปสกัดเป็นน้ำมันวอลนัท โรยบนสลัด
ข้อควรรู้
- ถั่ววอลนัท 1 ออนซ์ หรือ 14 เม็ด ให้พลังงาน 186 แคลอรี่
- มีไขมันโอเมก้า-3 จากพืชที่เรียกว่า กรดอัลฟาไลโนเลนิก (ALA) และสารต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด
- การได้รับกรดอัลฟาไลโนเลนิก (ALA) ของไขมันโอเมก้า-3 จากพืช จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจลงได้
- วอลนัทมีสารตามธรรมชาติที่ชื่อ “แทนนิน” ค่อนข้างสูง ทำให้มีรสชาติที่ขมแห้งเล็กน้อย ถ้านำไปอบจะช่วยลงความขมลงได้
คำถามที่พบบ่อย
• กินถั่วแล้วทำให้มีอาการไอ เจ็บคอ คันคอ?
ถึงแม้ว่าจะมีประโยชน์มากมาย แต่ถั่วก็เป็นหนึ่งในสารก่อภูมิแพ้ในอาหารที่พบได้บ่อยที่สุด ด้วยสารจากธรรมชาติบางชนิด อาจจะก่อให้เกิดอาการไอ เจ็บคอ ระคายเคือง ร้อนในได้ และไม่แนะนำสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ
• กินถั่วแล้วท้องอืด ทำยังไงดี?
การแช่น้ำก่อนกินถั่วแบบดิบๆ 12-24 ชั่วโมง จะช่วยทำลายสารอุ้มเมล็ดได้
• ถั่วมีไขมันที่สูง ทำไมถึงแนะนำให้กิน?
เพราะว่าไขมันจากถั่วชนิดที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นไขมันไม่อิ่มตัวชนิดที่ดี (HDL) ทั้งไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (MUFA)และเชิงซ้อน (PUFA) ซึ่งจะช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) ออกจากร่างกาย และไม่ตกค้างหรือสะสมที่ผิวหนังหลอดเลือด ทำให้ลดความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดอุดตัน โรคหัวใจ ความดันโลหิต
• กินถั่วคลุกกับเกลือ ได้หรือไม่?
แม้ว่าจะทำให้รสชาติอร่อยขึ้นก็จริงอยู่ แต่เกลือนั้นมีโซเดียมที่สูง ส่งผลให้เกิดโรคไต ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หลอดเลือดแข็งตัวได้ ซึ่งค่าโซเดียมไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา และมื้ออาหารแต่ละมื้อก็มีส่วนประกอบจากโซเดียมมากพออยู่แล้ว จึงแนะนำให้เลี่ยงถั่วคลุกเกลือจะดีกว่า
• ควรกินถั่วปริมาณเท่าไหร่?
การได้รับสารอาหารจากถั่ววันละ 1 ออนซ์ (28 กรัม) ก็เพียงพอต่อวันแล้ว และการที่กินถั่วหลากหลายชนิดผสมกัน ก็จะทำให้ได้สารอาหารที่ครบครันกว่า
สำหรับคนที่รักสุขภาพแล้ว ถั่วเป็นหนึ่งในขนมกินเล่นที่มีประโยชน์มากกว่าขนมอื่นๆ แม้ว่าถั่วจะมีแคลอรี่ที่สูง และส่วนใหญ่เป็นไขมัน แต่การรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมพอดีทุกวัน จะให้ประโยชน์มากกว่าโทษอย่างแน่นอน ทั้งช่วยในเรื่องของการควบคุมน้ำหนัก ระบบภายในต่างๆในร่างกายแข็งแรงสุขภาพดี ป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆได้ และยังสามารถหาซื้อได้ง่าย นำไปใช้ในการประกอบอาหารได้หลากหลายอีกด้วย